เกี่ยวกับโครงการ

โครงการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร พ.ศ. 2566 (ปีที่ 7)

การไฟฟ้านครหลวง (MEA) มีความประสงค์ที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ใช้ไฟฟ้า ได้รับความรู้ และคำแนะนำ ด้านการอนุรักษ์พลังงานที่ถูกต้อง เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของการใช้พลังงาน และปรับปรุงการใช้พลังงานในอาคารอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยดำเนินโครงการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร ภายใต้ชื่อ “MEA Energy Awards” ซึ่งได้จัดทำเกณฑ์ประเมินมาตรฐานขึ้นใหม่สำหรับอาคารประเภทต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีความมุ่นมั่นในการปรับปรุงการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และได้ดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

MEA Energy Awards

โครงการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร พ.ศ. 2566 (ปีที่ 7) MEA Energy Awards 2023

การไฟฟ้านครหลวง (MEA)

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

ตราสัญลักษณ์ MEA Energy Awards

“การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และคุณภาพอากาศได้มาตรฐาน”

จัดทำเกณฑ์ประเมินอาคารประหยัดพลังงาน โดยการประเมินดัชนีการใช้พลังงานในอาคาร เพื่อสร้างมาตรฐานการใช้พลังงานที่เหมาะสมสำหรับอาคาร 9 ประเภท โดยมอบตรา MEA Energy Awards ให้กับอาคารที่ผ่านเกณฑ์ ทั้ง 2 ด้านคือ ด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (MEA Index) และด้านคุณภาพอากาศภายในอาคาร (IAQ) เพื่อส่งเสริมเป็นอาคารประหยัดพลังงานของการไฟฟ้านครหลวง

โรงพยาบาล, โรงแรม, โรงเรียน, มหาวิทยาลัย,ไฮเปอร์มาร์เก็ต, สำนักงาน, ไฮเปอร์มาร์เก็ต, ศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้า, ร้านค้าขนาดเล็ก/ร้านสะดวกซื้อ และร้านกาแฟ

ระหว่าง เดือนมิถุนายน 2566 ถึง เดือนกรกฎาคม 2567

logo mea energy awards

ติดต่อ

มจธ.

0-2470-9604

กฟน.

0-2220-5480

วัตถุประสงค์

  • ศึกษาและรวบรวมข้อมูลการใช้ไฟฟ้าในกลุ่มอาคารเป้าหมาย
  • ศึกษาจัดทำและทบทวนเกณฑ์ค่าดัชนีการใช้พลังงานไฟฟ้าในอาคาร (MEA Index : Management of Energy Achievement Index) และเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอากาศภายในอาคาร (IAQ :Indoor Air Quality)
  • เพื่อประเมินการให้ตราสัญลักษณ์แสดงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร (MEA Energy Awards)
  • ศึกษาและจัดทำแนวทางวิธีการตรวจวัดและประเมินผลการประหยัด ต้นทุนค่าใช้จ่าย และปัญหาอุปสรรคของการดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานในระบบวิศวกรรมประกอบอาคาร เพื่อประเมินการสนับสนุนการลงทุนให้กับกลุ่มอาคารเป้าหมาย
  • ส่งเสริมการให้ความรู้ ให้คำแนะนำด้านการอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
  • สร้างจิตสำนึกให้ผู้ใช้อาคาร ได้ตระหนักถึงคุณค่าของการอนุรักษ์พลังงาน
  • ประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีอาคารที่ได้รับตราสัญลักษณ์ พร้อมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนเข้าใช้บริการอาคารที่ได้รับตราสัญลักษณ์
  • มอบรางวัลเพื่อยกย่องเชิดชูอาคารที่ได้รับตราสัญลักษณ์ MEA Energy Awards ให้เป็นตัวอย่างที่ดีในการดำเนินการเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและประหยัดพลังงานแก่อาคารอื่น ๆ

รูปแบบการประเมินอาคาร

เนื่องจาก MEA เป็นผู้จำหน่ายไฟฟ้า และการใช้พลังงานหลักของอาคาร คือ พลังงานไฟฟ้า เกณฑ์มาตรฐานของ MEA เพื่อใช้ประเมินประสิทธิภาพพลังงานซึ่งได้จัดทำขึ้นใหม่โดยไม่ซ้ำซ้อนกับเกณฑ์ที่มีใช้อยู่ในประเทศไทย และศึกษาทบทวน พัฒนาปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐาน MEA Energy Awards ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีปัจจุบันมาอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นการประเมินในด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอาคารเป็นหลัก โดยใช้หลักเกณฑ์มาตรฐาน MEA Index (Management of Energy Achievement Index) เป็นตัวชี้วัดระดับการใช้พลังงานที่ MEA ได้พัฒนาขึ้นใหม่ และให้ความสำคัญกับด้านคุณภาพของอากาศภายในอาคาร (Indoor Air Quality : IAQ) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพอนามัยและประสิทธิภาพในการทำงานของผู้ใช้งานอาคาร  MEA ใช้เกณฑ์ประเมิน IAQ ที่มีความเหมาะสมต่อผู้ใช้อาคารตามหลักสากลเป็นที่ยอมรับ โดยให้ความสำคัญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพารามิเตอร์ต่าง ๆ เช่น CO, CO2, PM2.5, PM10, TVOCs, Formaldehyde อ้างอิงกับค่ามาตรฐานของทั้งในและต่างประเทศ เช่น กรมควบคุมมลพิษ, กรมอนามัย, ASHRAE Standard, Singapore Standard, Hong Kong Standard เป็นต้น โดยโครงการได้ใช้เกณฑ์ทั้ง 2 เงื่อนไข เป็นเกณฑ์มาตรฐาน สำหรับพิจารณาตัดสินเพื่อมอบตรา MEA Energy Awards ให้กับอาคารที่ผ่านเกณฑ์ประเมินตามที่กำหนด

การประเมินมาตรฐาน MEA Energy Awards

แนวคิด

การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
และคุณภาพอากาศได้มาตรฐาน

จัดทำเกณฑ์ประเมินมาตรฐานอาคารประหยัดพลังงานของ MEA ภายใต้แนวคิด “การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และคุณภาพอากาศได้มาตรฐาน” เพื่อมอบตรา MEA Energy Awards ให้กับอาคารแต่ละประเภท โดยใช้เกณฑ์มาตรฐานด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (MEA Index) และด้านคุณภาพอากาศภายในอาคาร (IAQ) เป็นตัวชี้วัด และให้การส่งเสริมเจ้าของอาคารให้มีความรู้ มีความเข้าใจในด้านการอนุรักษ์พลังงาน และสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง โดยการสนับสนุนเงินลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร เปิดรับสมัครอาคารเข้าร่วมโครงการ ในเขตพื้นที่ให้บริการของ MEA คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ

ตราสัญลักษณ์ MEA ENERGY AWARDS

logo mea energy awards

MEA ENERGY AWARDS มาตรฐานอาคารประหยัดพลังงานของการไฟฟ้านครหลวง

ออกแบบภายใต้แนวคิด "การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและคุณภาพอากาศได้มาตรฐาน" โดยมอบตราสัญลักษณ์ฯ ให้กับอาคารที่ผ่านเกฑณ์มาตรฐาน MEA Index และ IAQ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนไว้วางใจเลือกใช้บริการในอาคารที่ประดับตรา MEA ENERGY AWARDS ซึ่งแสดงถึงใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพอากาศที่ดีเหมาะสมกับผู้ใช้งานภายในอาคาร

แนวคิดในการออกแบบตราสัญลักษณ์ MEA ENERGY AWARDS

  • อาคารสีส้ม : อาคารที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีพลังงานไฟฟ้าไหลเวียนต่อเนื่องหล่อเลี้ยงอาคารน้อยใหญ่อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ลายเส้นเชื่อมต่อสอดประสานกันเป็นรูปอาคารที่มั่นคงแข็งแรง สีส้มสื่อถึงการใช้พลังงานมีประสิทธิภาพเปี่ยมด้วยพลังความร่วมมือหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันภายในอาคาร
  • หลอดไฟ : แสงแห่งความสำเร็จที่เริ่มต้นจากแนวคิดเล็กๆ พัฒนาเป็นผลประหยัดพลังงานรวมที่ยิ่งใหญ่ได้
  • ใบไม้ : รณรงค์ให้ใช้พลังงานอย่างประหยัดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเป็นอาคารที่มีคุณภาพอากาศดี
  • MEA : ความหมายที่ 1 คือ อักษรย่อภาษาอังกฤษ ของการไฟฟ้านครหลวง (Metropolitan Electricity Authority : MEA) และ ความหมายที่ 2 คือ ค่าดัชนีการใช้พลังงานอีกด้วย ซึ่งย่อมาจาก (Management of Energy Achievement Index : MEA Index)
  • ENERGY AWARDS : รางวัลมาตรฐานการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ประเมินจากเงื่อนไขด้านการใช้พลังงานไฟฟ้า (MEA Index) และเงื่อนไขด้านคุณภาพอากาศภายในอาคาร (IAQ)
  • เครดิตผู้ออกแบบโดยฝ่ายสื่อสารองค์กร MEA 

อาคารกลุ่มเป้าหมาย

เพื่อส่งเสริมให้ตราสัญลักษณ์ MEA Energy Awards เป็นที่รู้จักแพร่หลายเพิ่มมากขึ้น โดยได้กำหนดกลุ่มประเภทอาคารเป้าหมายที่เปิดรับสมัคร รวม 8 ประเภทอาคาร ประกอบด้วย

โรงพยาบาล

โรงแรม

โรงเรียน

มหาวิทยาลัย

สำนักงาน

ไฮเปอร์มาร์เก็ต

ศูนย์การค้า
ห้างสรรพสินค้า

ร้านค้าขนาดเล็ก
ร้านสะดวกซื้อ

ร้านกาแฟ

ประโยชน์ที่อาคารได้รับในการเข้าร่วมโครงการ

  • สมัครเข้าร่วมโครงการฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย
  • ได้รับการตรวจประเมิน MEA Index และ IAQ ตามเกณฑ์มาตรฐานโครงการ
  • ได้สิทธิพิเศษเข้าร่วมกิจกรรม เช่น สัมมนาให้ความรู้ ศึกษาดูงาน เป็นต้น
  • อาคารที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานมีสิทธิ์ขอเงินสนับสนุนการลงทุนฯ พร้อมทั้งได้รับใบประกาศเกียรติคุณ, โล่รางวัล , ป้าย X-Stand และป้ายตราสัญลักษณ์ Acrylic ติดตั้งที่อาคาร รวมถึงรับสิทธิพิเศษ ตามที่กำหนด
  • ผู้บริหารและทีมงานได้เข้าร่วมงาน “พิธีมอบรางวัลตราสัญลักษณ์ MEA Energy Awards”ประจำปี
  • อาคารได้รับการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลงานผ่านสื่อของโครงการ ในวงกว้าง
  • ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของอาคาร ร่วมทั้งได้รับการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าใช้บริการในอาคารที่ได้รับตรา MEA Energy Awards

รางวัลอาคารประหยัดพลังงานมาตรฐาน MEA Energy Awards

อาคารที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานทั้ง 2 เงื่อนไข จะได้เป็นอาคารประหยัดพลังงานของ MEA และได้รับตราสัญลักษณ์เพื่อแสดงถึง “การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและคุณภาพอากาศได้มาตรฐาน” โดยอาคารที่ผ่านเกณฑ์ฯจะมีสิทธิขอรับรางวัลพิเศษเพิ่มเติมในรอบปี MEA Energy Awards  2023-2024 ซึ่งจะมอบให้อาคารที่มีความโดดเด่นในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการมีส่วนร่วมของผู้บริหารซึ่งมีความใส่ใจอย่างจริงจัง อาคารมีการปรับปรุงฯ และมีผลประหยัดชัดเจน  ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะเข้าเยี่ยมพบอาคาร เพื่อพิจารณาให้คะแนนประเมินอาคารและตัดสินการให้รางวัลพิเศษ ซึ่งจะทำให้อาคารได้รับประโยชน์ ทั้งในด้านองค์ความรู้ ความยั่งยืน และด้าน CSR องค์กร  โดยแบ่งรางวัลพิเศษ เป็น 2 ระดับ คือ รางวัลสูงสุด ระดับ PLATINUM และ ระดับ GOLD รองมาตามลำดับ มีหลักเกณฑ์การให้คะแนนสำหรับรางวัลพิเศษ 3 ด้าน คือ

  1. ด้านการมีส่วนร่วมและความใส่ใจของผู้บริหารอย่างจริงจัง
  2. ด้านความยั่งยืน
  3. ด้านการปรับปรุงการใช้พลังงานและผลประหยัด

โดยอาคารที่ขอรับการประเมินรางวัลพิเศษ ที่ได้รับคะแนนรวม ร้อยละ 70 ขึ้นไป จะได้รับรางวัล ระดับ GOLD และอาคารที่ได้รับคะแนนรวม ร้อยละ 80 ขึ้นไป จะได้รับรางวัลสูงสุด ระดับ PLATINUM

หากอาคารมีคะแนนไม่ถึง ร้อยละ 70 อาคารจะไม่ได้รับรางวัลพิเศษ แต่ยังคงได้ตรามาตรฐาน โดยอาคารที่ได้รับตราสัญลักษณ์ ฯ สามารถยื่นขอรับรางวัลพิเศษได้ โดยไม่จำเป็นต้องยื่นขอรับเงินสนับสนุนฯ แต่อาคารจะต้องมีการดำเนินมาตรการปรับปรุงการใช้พลังงาน ภายในปีที่มีการจัดทำโครงการฯ

Scroll to Top